ไก่ชนชั้นดี ถิ่นอีสาน ตอน 1
อีสานเป็นดินแดนที่มีประวัติความเป็นมาในอดีตที่ยาวนาน การค้นพบซากกระดูก ไก่ชนชั้นดี ในดึกดำบรรพ์ที่ชุมชนโบราณบ้านโนนชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนโบราณแห่งนี้มีการเลี้ยงไก่มาแต่บรรพกาล ในแง่ของไก่ชนได้ปรากฏเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับไก่ชนโดยตรง พอจะสืบค้นได้จากผู้เล่นแทงไก่ ยังปรากฏหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ได้ดังนี้
- นิ้วงอ สบงุ้ม แข้งลำงา สบสีขา ตาสีโต
นิ้วงอ คือ นิ้วไก่ที่ต้องมีลักษณะยาวและโค้งงอเข้าหากันเล็กน้อย โคนนิ้วใหญ่ค่อย ๆเรียวลงไปยังปลายนิ้ว
สบงุ้ม คือ ปากไก่ต้องงุ้มลงเล็กน้อย มีร่องน้ำฉีกจากรูจมูกไก่มายังปลายปาก ปากเหมือนปากนกกระจิบเชื่อว่าเป็นไก่จิกเร็ว
แข้งลำงา คือ แข้งไก่ต้องกลมและสีเหมือนงาช้าง
สบสีขา คือ ปากต้องมีสีเดียวกันกับแข้ง
ตาสีโต คือ สีนัยน์ตาต้องเป็นสีเดียวกับขนสร้อย
- นกแข้งใหญ่ ไก่แข้งน้อย
นกที่ต้องนำมาเลี้ยงเอาไว้เป็นนกต่อต้องเลือกตัวที่แข้งใหญ่ หรือ แข้งอิ่ม มาเลี้ยง ส่วนไก่ที่จะต้องนำมาเลี้ยงชนต้องเลือกตรงข้ามกับนกคือ เลือกตัวที่แข้งเล็ก กลมและเรียวมาเลี้ยงเพราะคนอีสานเชื่อว่าเป็นไก่ตีเจ็บ
- ไก่ซี ไก่เวา ไก่เทา ไก่ด่าง ตีดีกะซ่างมันบ่ฮักเดิมพัน
คนอีสานเชื่อว่าสีของไก่บ่งบอกได้ถึงจิตใจของไก่ด้วย ดังนั้นไก่ที่นำมาเลี้ยงต้องถูกโสก (ถูกโฉลก) ห้ามนำเอาไก่ชี(สีขาว) ไก่สีกาเหว่า ไก่สีเทา ไก่สีด่างมาเลี้ยงแม้ไก่สีทั้งหมดที่กล่าวมาจะชนเก่งสักปานใดก็ตามเพราะมันเป็นไก่ไม่รักเดิมพัน